ลำดับเหตุการณ์ ของ การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564

การประท้วงระยะแรก (เดือนกุมภาพันธ์)

การประท้วงที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตองครักษ์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ โดยตัวเลขที่ถูกขีดฆ่าหมายถึง จำนวนคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศที่เลือกให้กับพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกขีดทิ้ง

การประท้วงระยะแรกเกิดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ พรรคการเมืองฝ่ายค้านซึ่งได้รับความนิยมในหมู่เยาวชน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563[56] จึงเกิดการเดินขบวนในมหาวิทยาลัย วิทยาลัยและโรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศตั้งแต่นั้นมา การประท้วงเหล่านี้มีแฮชแท็กที่จำเพาะกับสถาบันของพวกตน การประท้วงในช่วงแรก ๆ เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โรงเรียนที่ประท้วงด้วย เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา​และโรงเรียนศึกษานารีวิทยา อย่างไรก็ดี การประท้วงเหล่านี้จำกัดอยู่ในสถาบันของตนเท่านั้น[57][58] ด้าน อาจารย์ ด​ร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง​ ระบุว่า การประท้วงบนถนนไม่เคยสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทย หากกองทัพยังอยู่ข้างรัฐบาล[1]

แฮชแท็กที่เกิดขึ้นในการประท้วงเดือนกุมภาพันธ์ เช่น ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป, ในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ใช้ #เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ, ในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ใช้ #มศวคนรุ่นเปลี่ยน อีกจำนวนหนึ่งใช้แสดงออกถึงความเป็นปรปักษ์กับกลุ่มผู้สนับสนุนเผด็จการ เช่น #KUไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ, #KKUขอโทษที่ช้าโดนสลิ่มลบโพสต์, #ศาลายางดกินของหวานหลายสี, #พระจอมเกล้าชอบกินเหล้าไม่ชอบกินสลิ่ม

ต่อมาการประท้วงหยุดไปจากสถานการณ์การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย และคำสั่งปิดสถานศึกษาทั่วประเทศเพื่อควบคุมโรคโดยให้จัดการเรียนการสอนทางออนไลน์แทน

การประท้วงทางออนไลน์

การรณรงค์ให้หยุดก่อม็อบลงถนนหลังกรณีศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่เพราะกลัวให้เป็นข้ออ้างในการปราบปราม​สังหารประชาชนหรือการรัฐประหารซ้อน​[59] การติดแฮชแท็กในทวิตเตอร์เริ่มเป็นที่นิยมในชื่อ save เพื่อให้มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากรัฐ เช่น #saveวันเฉลิม (วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยในประเทศกัมพูชา)[60], #saveทิวากร ผู้สวมเสื้อ เราหมดศรัทธา​สถาบันกษัตริย์​แล้ว​[61]

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์และผู้ลี้ภัยทางการเมือง ทวีตตั้งคำถามเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 พร้อมใส่แฮชแท็กดังกล่าว จนนำไปสู่การที่กลุ่มเยาวชนกล้าพูดในเรื่องที่สุ่มเสี่ยงที่สุด คือ #กษัตริย์มีไว้ทำไม[62] เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ผู้ใช้ทวิตเตอร์ "นิรนาม_"ถูกจับกุมที่ทวิตภาพและข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 และถูกฝากขังที่ศาลพัทยา และไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว โดยใช้การตรวจสอบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากบริษัททรู[63]

ต่อมาในวันที่ 24 เมษายน สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความ ระบุว่า สนท. ขอเชิญชวนชาวไทยทุกคนร่วมประท้วงออนไลน์ โดยการถ่ายรูปถือป้ายแสดงความรู้สึกต่อรัฐบาลพร้อมติด #MobFromHome "โควิดหายมาไล่รัฐบาลกันไหม?"[64] ส่งผลให้ในวันต่อมา (25 เมษายน) #MobFromHome พุ่งติดเทรนด์ยอดนิยมอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ประเทศไทย โดยมีผู้ใช้ทวิตเตอร์แต่ละบัญชีต่างออกมาระบายความอัดอั้นตันใจที่มีต่อรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์[65]

และวันที่ 27 เมษายน นายแพทย์ สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวร่วม #MobFromHome ด้วย และได้เปิดตัวแฮชแท็กใหม่อีกคือ #NoCPTPP เนื่องจากในวันถัดมา (28 เมษายน) คณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ นำโดยจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะมีการเสนอให้ประเทศไทยเข้าร่วมข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือ CPTPP ซึ่งจากข้อตกลงนี้มีกฎหมายข้างเคียงที่จะทำให้ไทยถูกเอาเปรียบทางด้านการเกษตรและด้านการแพทย์อย่างมาก เช่น ต่างชาติสามารถผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืชได้ ยามีราคาแพงขึ้น สิทธิบัตรยาถูกผูกขาดมากขึ้น ทำให้ไทยมีความมั่นคงทางอาหารและยาลดลง[66] และ ตุล ไวฑูรเกียรติ นักร้องนำวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า ก็ได้ออกมาร่วมรณรงค์ให้คัดค้าน CPTPP ด้วย จนทำให้แฮชแท็ก #NoCPTPP ก็ติดอันดับ 1 ในทวิตเตอร์[67] จนกระทั่งจุรินทร์ต้องสั่งถอนวาระเรื่อง CPTPP ออกจากวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีทันทีในวันนั้นเอง[68]

การประท้วงระยะที่สอง

การชุมนุมภายใต้ข้อเรียกร้อง 3 ประการ

กลุ่มเสรีเทยโบกธงสีรุ้งในการประท้วงวันที่ 25 กรกฎาคม

วันที่ 18 กรกฎาคม ประเทศไทยมีการเดินขบวนตามถนนครั้งใหญ่สุดนับแต่รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557[69]อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในกรุงเทพมหานคร ผู้ประท้วงซึ่งรวมตัวกันในชื่อกลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" (อังกฤษ: Free Youth) ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ประการ ได้แก่ การยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยผู้ประท้วงระบุเหตุผลว่า รัฐบาลได้ล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดทั่วของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย และการปล่อยละเลยให้บุคคลสำคัญจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่กักตัว 14 วัน จึงเป็นเหตุผู้ประท้วงไม่ไว้วางใจในการทำงานของรัฐบาล, การหยุดคุกคามประชาชน เนื่องจากมีการอ้างความมั่นคงเพื่อปิดปากประชาชน และยัดข้อหาให้ผู้ชุมนุม และ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นการสืบทอดอำนาจระบอบเผด็จการ ผู้ประท้วงกำหนดระยะเวลาให้รัฐบาลตอบสนองภายใน 2 สัปดาห์ มิฉะนั้นผู้ประท้วงจะทำการยกระดับการชุมนุมต่อไป[70]สาเหตุการประท้วงเกิดจากเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งผู้ชุมนุมมองว่า มีวัตถุประสงค์แอบแฝงเพื่อห้ามการชุมนุมทางการเมือง[71][72] โดยการชุมนุมเริ่มต้นในเวลา 17:00 น. มีผู้เข้าร่วมประมาณ 2,500 คน มีประกาศจะปักหลักค้างคืนจนถึงเวลา 08:00 แต่ในช่วงเวลา 00:00 กลุ่มผู้ประท้วงประกาศยุติการชุมนุม เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย[73] ส่วน ศ.พิเศษ​ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการประวัติศาสตร์ เตือนผู้ชุมนุมอย่าชุมนุมค้างคืน เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเหตุการณ์ 6 ตุลา[74]

การประท้วงที่จังหวัดนครราชสีมาเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม

วันที่ 19 กรกฎาคม เกิดการประท้วงขึ้นอีกหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอุบลราชธานี[75]

วันที่ 22 กรกฎาคม มีการจัดกิจกรรม "อิสานสิบ่ทน" ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ และเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพิ่มขึ้นมา แฮชแท็ก #อีสานสิบ่ทน พุ่งติดเทรนด์ยอดนิยมอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ประเทศไทย​อย่างรวดเร็ว[76]

วันเดียวกัน กลุ่ม "มศว คนรุ่นเปลี่ยน" จัดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อ "ชมสวน" หมายความถึง สวนที่กรุงเทพมหานครนำต้นไม้กระถางมาวางโดยรอบบริเวณ ซึ่งมีการยกออกไปในภายหลัง[77]

จากนั้นการประท้วงได้ลามไปทั่วประเทศ มีการจัดระเบียบการเดินขบวนในกว่า 20 จังหวัดในวันที่ 23 กรกฎาคม[78] บางมหาวิทยาลัยและโรงเรียนสั่งห้ามบุคลากรและนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมการชุมนุมและห้ามจัดการชุมนุมในพื้นที่โดยอ้างเหตุความกังวลเรื่องโควิด-19 พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกและกลุ่มนิยมรัฐบาลชี้ว่าการกระทำบางอย่างของนักศึกษาอาจเข้าข่ายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย วันที่ 24 กรกฎาคม ที่จัตุรัสท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา มีการจัดการนั่งยึดพื้นที่โดยกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาจาก 4 มหาวิทยาลัยในจังหวัด นับเป็นการประท้วงครั้งใหญ่สุดครั้งหนึ่ง[79] วันที่ 27 และ 29 กรกฎาคม คนไทยที่กรุงลอนดอน ในสหราชอาณาจักร และนครนิวยอร์กในสหรัฐ ร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาลด้วย[80]

วันที่ 25 กรกฎาคม กลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBT) ชื่อ เสรีเทย เดินขบวนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องกฎหมายสมรสเพศเดียวกันนอกเหนือจากข้อเรียกร้องสามข้อของเยาวชนปลดแอก[81] วันที่ 26 กรกฎาคม มีการจัดกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดยใช้ตัวการ์ตูนแฮมทาโร่ ตอนแรกเป็นการเคลื่อนไหวออนไลน์ทางทวิตเตอร์ จนกระทั่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 3,000 คน[77] วันที่ 29 กรกฎาคม มีการชุมนุมเกิดขึ้นหลายที่ทั่วประเทศ เช่น ที่ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ มีการชุมนุมของประชาชนราว 1,000 คน ก่อนหน้านี้ แกนนำ 4 คนถูกตั้งข้อหาซึ่งนัดเข้ามอบตัวในวันที่ 30 กรกฎาคม, ที่จังหวัดน่าน มีผู้ชุมนุมราว 100 คน ใช้แฮชแท็ก #คิดว่าน่านจะทนหรอ #น่านกระซิบลุง, ที่จังหวัดนครสวรรค์ มีผู้ชุมนุม 200 คน ใช้สโลแกนว่า "นครสวรรค์จะไม่ทน เราจะสู้ จนกว่าตะได้ประชาธิปไตยคืนมา", ที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีการชุมนุมของกลุ่ม "สุพรรณจะไม่ทน" จำนวน 150 คน และที่จังหวัดนนทบุรี ผู้ชุมนุมร่วมร้องเพลงแฮมทาโร่[82]

วันที่ 30 กรกฎาคม มีการจัดการประท้วงโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าทั้ง 3 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ภายใต้แฮชแท็ก #สามพระจอมจะยอมได้ไง ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตกรุงเทพมหานคร[83] วันเดียวกัน มีการชุมนุมของกลุ่มอาชีวะ 2 กลุ่ม ได้แก่ "กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ" ที่แสดงจุดยืน "พิทักษ์" สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งกล่าวหาว่ากลุ่มเยาวชนปลดแอก "ท้าทาย ต่อต้าน หรือกระทั่งล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์" มีจำนวนประมาณ 110 คน จัดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อีกกลุ่มหนึ่งคือ "อาชีวะเพื่อประชาชน" และกลุ่ม "ฟันเฟืองประชาธิปไตย" ที่แสดงจุดยืนเข้ากับผู้ชุมนุม[84]

รายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) ระบุว่า จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม มีการจัดกิจกรรมแล้ว 75 ครั้งใน 44 จังหวัด ในจำนวนนี้ 5 กิจกรรมไม่สามารถจัดได้เพราะมีการคุกคามและปิดกั้นของทางการ[85]

ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม โดยมีการจัดแสดงภาพบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายบางส่วนในประเทศไทย

วันที่ 1 สิงหาคม กลุ่มเยาวชนปลดแอกพบว่า หลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์ รัฐบาลไม่ตอบสนองแก่ข้อเรียกร้อง 3 ประการที่เรียกร้องไป ซ้ำยังพบการคุกคามประชาชนด้วย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มากกว่าเดิมอีก จึงได้โพสต์เฟซบุ๊กประกาศยกระดับการชุมนุม โดยตั้งกลุ่มการเมืองใหม่ในชื่อ "คณะประชาชนปลดแอก" (อังกฤษ: Free People) และได้เชิญชวนประชาชนทุกเพศ ทุกวัย มาร่วมมือกับเยาวชนเพื่อขับไล่รัฐบาลชุดนี้ด้วย โดยได้นัดหมายการชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 16 สิงหาคม[86]

วิดีโอจากแหล่งข้อมูลภายนอก
คำปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของอานนท์ นำภา, วิดีโอยูทูบ

วันที่ 3 สิงหาคม กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มมอกะเสด (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) จัดการชุมนุม มีแฮชแท็กว่า #เสกคาถาไล่คนที่คุณก็รู้ว่าใคร[87] เป็นการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน[88] โดยเวลาประมาณ 20.00 น. อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขึ้นปราศรัย[89] ความตอนหนึ่งกล่าวถึงพระราชอำนาจที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย[88] อานนท์ถูกตั้งข้อหาหลายข้อหา รวมทั้งข้อหาหนักสุดการปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116) และถูกตำรวจจับกุมในวันที่ 7 สิงหาคม[90] ภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำเยาวชนปลดแอกในวันที่ 18 กรกฎาคม ถูกจับกุมด้วยอีกคน ทำให้เกิดแฮชแท็ก #หยุดคุกคามประชาชน ปล่อยอานนท์ ปล่อยไมค์" #saveทนายอานนท์ #saveไมค์ #หยุดคุกคามประชาชน[91] องค์การนิรโทษกรรมสากลประเทศไทยออกแถลงการณ์ให้ถอนข้อหา และคุ้มครองสิทธิในการชุมนุมของประชาชน[91] ปฏิกิริยาจากการจับกุมดังกล่าวทำให้เกิดการประท้วงที่มีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,000 คนในวันที่ 8 สิงหาคม[92] ประมาณต้นเดือนสิงหาคม เกิดการรณรงค์ #ไม่รับปริญญา หมายถึง ไม่เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร[93]

วันที่ 7 สิงหาคม ไอลอว์เริ่มจัดกิจกรรมรวบรวมรายชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ หวังรวบรวมรายชื่อ 50,000 รายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน[94]

วันที่ 9 สิงหาคม มีการจัดการชุมนุม "เชียงใหม่จะไม่ทน" ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี อานนท์ นำภา ปราศรัยเรื่องข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อีกครั้ง มีผู้ชมุนมประมาณ 500–1,000 คน[95]

วันที่ 10 สิงหาคม คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเข้ายื่นร่างพระราชบัญญัติออกเสียงลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีศูนย์กลางประสานงานนักศึกษา อาชีวะ ประชาชน ปกป้องสถาบันฯ (ศอปส.) ชุมนุมประท้วงตอบโต้ โดยกล่าวหาว่านักศึกษาถูกยุยงให้โจมตีรัฐบาลและกองทัพ และดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้อง อีกทั้งคิดล้มระบอบการปกครอง กลุ่มของตนจะใช้วิธีบีบบังคับทางสังคมเปิดโปงชื่อบุคคลให้สาธารณะทราบ[96] นอกจากนี้ กลุ่ม ศอปส. ยังประกาศจัดตั้งในทุกจังหวัด[97]

ในช่วงเย็นถึงหัวค่ำ มีการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี ชื่อ "#ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" มีผู้เข้าร่วมจากหลายกลุ่มและหลายมหาวิทยาลัย และมีกลุ่มอาชีวะมาช่วยรักษาความปลอดภัยให้[98] รวมประมาณ 3,000 คน[99] และใช้สโลแกนว่า "เราไม่ต้องการปฏิรูป เราต้องการปฏิวัติ" มีตัวแทนสหภาพแรงงานร่วมปราศรัย เล่าถึงปัญหาความไม่เสมอภาคและสัญญายกระดับคุณภาพชีวิตของรัฐบาลที่ทำไม่ได้จริง[100] นอกจากนี้ มีการปราศรัยของอานนท์ นำภา, เปิดคลิปของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ พร้อมกับยื่นข้อเสนอ 10 ข้อเพื่อปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อให้บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยสอดคล้องกับระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ[100] ตามข้อมูลของเอพี ผู้ประท้วงในงานรู้สึกคละกันเกี่ยวกับข้อเรียกร้องดังกล่าว[99] กลุ่มผู้ประท้วง มธ. แจ้งยกเลิกนัดหมายชุมนุมในวันที่ 12 สิงหาคมเนื่องจากทราบมาว่ามีผู้ไม่ประสงค์ดี[101]

ข้อเรียกร้อง 10 ประการของ #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน
  1. ยกเลิกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ห้ามผู้ใดกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์ ให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ ดังที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร
  2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ให้แสดงความเห็นต่อสถาบันฯ ได้อย่างเสรี และให้นิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีทุกคน
  3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และให้แบ่งทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์อย่างชัดเจน
  4. ลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ
  5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ และยกเลิกหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรี
  6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด
  7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ
  8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการโฆษณาชวนเชื่อสถาบันกษัตริย์ทั้งหมด
  9. สอบสวนความจริงเกี่ยวกับการฆ่าราษฎรผู้ออกความเห็นหรือวิจารณ์สถาบันกษัตริย์
  10. ห้ามลงพระปรมาภิไธยรับรองรัฐประหารอีก

วันที่ 14 สิงหาคม บีบีซีรายงานว่ามีการจัดประท้วงแนวร่วมเยาวชนปลดแอกใน 49 จังหวัด และประชาชนปกป้องสถาบันฯ 11 จังหวัด[102]

การชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม

วันที่ 16 สิงหาคม คณะประชาชนปลดแอกซึ่งยกระดับจากกลุ่มเยาวชนปลดแอก[36] จัดการชุมนุม "ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียนรีวิวรายงานอ้างตำรวจภาคสนามว่ามีผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 20,000 คน[103] โดยผู้ชุมนุมย้ำข้อเรียกร้อง 3 ข้อเดิม และเพิ่ม 2 จุดยืน ได้แก่ ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติและรัฐประหาร รวมถึง 1 ความฝัน คือ ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ" กลุ่มยังยื่นคำขาดว่า ภายในเดือนกันยายน จะต้องยกเลิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ซึ่งคณะประชาชนปลดแอกมองว่าเป็นกลไกสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้ได้[36] นอกจากนี้ในวันเดียวกัน มีการชุมนุมสนับสนุนในต่างประเทศ คือ ในกรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ซึ่งมีชาวไต้หวัน ชาวฮ่องกงและชาวสิงคโปร์เข้าร่วมด้วยจำนวนหนึ่ง[104] มีนักเรียนหลายโรงเรียนร่วมประท้วงด้วย ใช้แฮชแท็ก #โรงเรียนหน้าเขาไม่เอาเผด็จการ มีการกล่าวถึง 4 แสนครั้ง แต่มีโพสต์จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ว่าครูตราหน้านักเรียนว่าโง่และถูกพรรคการเมืองหลอก[105] รวมทั้งมีกรณีปัดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนักเรียนเสียหาย[106]

วันที่ 18 สิงหาคม กลุ่ม "นักเรียนเลว" จัดการประท้วงเป่านกหวีดที่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อขับณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีต กปปส.[107]

วันที่ 30 สิงหาคม มีกลุ่ม "ไทยภักดี" ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยประมาณ 1,000–1,200 คนชุมนุมในสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง จัดโดยนักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม ในพื้นที่ใกล้เคียงเกิดเหตุทำร้ายร่างกายภารโรงสูงอายุคนหนึ่งที่ใส่เสื้อแดง[108][109]

หลังสภาผู้แทนราษฎรรับข้อเสนออย่างเป็นทางการ

วันที่ 26 สิงหาคม กลุ่มนักศึกษายื่นข้อเรียกร้อง รวมทั้งข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อสภาผู้แทนราษฎร[110] ต่อมาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองฝ่ายยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมทั้งเพื่อแก้ไขวรคว่าด้วยวิธีดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ[111][112] วันที่ 28 สิงหาคม ผู้มีชื่อตามหมายจับจำนวน 15 คนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ ส.น. สำราญราษฎร์ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางประกัน วันเดียวกัน เกิดเหตุมีศิลปินสาดสีใส่ชุดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ[113]

วันที่ 9 กันยายน แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้แถลงรายละเอียดหน้าตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เกี่ยวกับการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 กันยายน ซึ่งเป็นวันครบรอบ 14 ปี ของการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ซึ่งจะเป็นการชุมนุมปักหลักค้างคืน และจะมีการเดินขบวนไปยื่นข้อเรียกร้องแก่พลเอกประยุทธ์ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันรุ่งขึ้น โดยคาดว่าจะใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์หรือท้องสนามหลวงเป็นที่ชุมนุม[114]

การปักหลักชุมนุมที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 19 กันยายน 2563

ก่อนหน้าชุมนุมที่มีการนัดหมายในวันที่ 19 กันยายน เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยปิดประตู[115] คณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่ามีอาสาสมัครตั้งเต็นท์ศูนย์อำนวยการติดตามการชุมนุม[116]

วันที่ 19 กันยายน กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดการชุมนุมภายใต้ชื่อ "19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร" แต่เป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกที่เชิญชวนประชาชนให้ปักหลักค้างคืน[117] มีการเจรจาระหว่างผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยจนสามารถเข้าไปในพื้นที่ได้สำเร็จ[118] ในเวลาบ่าย ผู้ชุมนุมย้ายไปปักหลักที่ท้องสนามหลวง โดยมีเจ้าหน้าที่กั้นรั้วรอบพื้นที่พระบรมมหาราชวัง[117] ในช่วงเย็น มีประมาณการผู้ร่วมชุมนุมระหว่าง 20,000–100,000 คนแล้วแต่แหล่งข้อมูล[119][120] ฝ่ายตำรวจมีการระดมเจ้าพนักงานกว่า 10,000 นายเข้ามาในพื้นที่[121] เช้าวันที่ 20 กันยายน มีการทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎรหมุดที่ 2 เพื่อรำลึกถึงหมุดคณะราษฎรเดิมที่หายไปในปี 2560[122][123] และผู้ประท้วงเปลี่ยนแผนจากการเคลื่อนไปทำเนียบรัฐบาล เป็นเคลื่อนไปทำเนียบองคมนตรีแทน และยื่นข้อเรียกร้องต่อประธานองคมนตรีผ่านผู้บัญชาการตำรวจนครบาลก่อนสลายตัว[124] ไม่มีรายงานเหตุการณ์ความรุนแรง โดยพริษฐ์ ชิวารักษ์ ประกาศนัดชุมนุมอีกในวันที่ 14 ตุลาคม[124] หมุดดังกล่าวถูกนำออกจากบริเวณภายใน 24 ชั่วโมง[125] สื่อต่างประเทศบางสำนักระบุว่าการประท้วงครั้งนี้เป็นการประท้วงต่อการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างเปิดเผย[126]

วันที่ 24 กันยายน ซึ่งเป็นวันลงมติในญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีการชุมนุมเพื่อกดดันสมาชิกวุฒิสภา สุดท้ายรัฐสภามีมติตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ อันเป็นผลให้เลื่อนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญออกไปอย่างน้อย 1 เดือน ทำให้เกิดทวีต #RepublicofThailand (สาธารณรัฐไทย) ติดอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ในคืนนั้น นับเป็นการแสดงออกนิยมสาธารณรัฐแบบหมู่สาธารณะครั้งแรกในประเทศไทย[127]

ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งได้รับสมญาว่า "นักร้องการเมือง" ได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกลุ่มผู้ชุมนุมว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม จนศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องในวันที่ 16 กันยายน โดยนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้หน่วยงานของราชการส่งหลักฐานให้แก่เขาในวันที่ 24 กันยายน ทั้งนี้เขาหวังว่าคำวินิจฉัยของศาลว่าจะสามารถตีความอย่างกว้างขวางเพื่อขัดขวางมิให้กล่าวถึงในประเด็นการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อีกต่อไป และยังสามารถดำเนินคดีกับผู้สนับสนุนต่าง ๆ ได้[128]

วันที่ 2 ตุลาคม กลุ่มนักเรียนมัธยม "นักเรียนเลว" จัดการประท้วงในโรงเรียนหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร​เพื่อประท้วงการละเมิดนักเรียน แล้วชุมนุมกันที่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลาออกอีกครั้ง[129]

สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

การปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 14 ตุลาคม 2563
วิดีโอจากแหล่งข้อมูลภายนอก
ขบวนเสด็จฯ ฝ่าแนวผู้ชุมนุมประท้วง 14 ตุลาคม 2563, วิดีโอเฟซบุ๊ก
เหตุทำร้ายร่างกายนักศึกษาในมหาวิทยาลัยรามคำแหง 21 ตุลาคม 2563, วิดีโอทวิตเตอร์

วันที่ 13 ตุลาคม ก่อนหน้าวันที่นัดหมายชุมนุมใหญ่ 1 วัน ผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งชุมนุมกันที่ถนนราชดำเนินใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อประท้วงขบวนเสด็จฯ[130] โดยระหว่างขบวนเสด็จฯ ผ่านผู้ประท้วงได้ชูสัญลักษณ์มือสามนิ้วซึ่งเป็นการแสดงออกไม่พอใจพระมหากษัตริย์ไทยอย่างเปิดเผย มีการสลายการชุมนุม และมีผู้ประท้วงถูกจับกุม 21 คน ต่อมาแฮชแท็กโจมตีพระมหากษัตริย์ติดอันดับทวิตเตอร์[131]

วันที่ 14 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันนัดชุมนุมใหญ่ เริ่มมีการชุมนุมตั้งแต่เช้าภายใต้ชื่อ "คณะราษฎร" จำนวนหลายหมื่นคน[132] โดยประกาศจะเคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออก[133] ปรากฏว่าทางการสั่งขนผู้ประท้วงตอบโต้โดยใช้พาหนะของราชการ[134] ส่วนกลุ่มนิยมเจ้า เช่น ไทยภักดี และองค์กรเก็บขยะแผ่นดิน จัดการประท้วงตอบโต้[135] วันเดียวกัน เกิดเหตุทำร้ายร่างกายผู้ประท้วงโดยฝ่ายตรงข้าม มีการเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลแล้วตั้งเต้นท์และเวทีปราศรัยโดยรอบทั้ง 4 ทิศ ทั้งนี้ การประท้วงดังกล่าวตรงกับการเสด็จพระราชดำเนินตามหมายกำหนดการ ซึ่งผ่านบริเวณชุมนุมที่ถนนพิษณุโลกและไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการล่วงหน้า และทั้งที่กำหนดการเดิมว่าจะใช้ถนนราชดำเนิน[136] ไม่มีการขัดขวางขบวนเสด็จ แต่นายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ว่าจะดำเนินคดีอย่างเข้มงวดกับผู้ที่ขัดขวางขบวนเสด็จฯ ตามอ้าง[136] เช่นเดียวกับกลุ่มฝ่ายขวาและสื่อที่รีบออกมาโจมตีผู้ชุมนุม[137][138] ด้านอานนท์ นำภา กล่าวว่า ราชการจงใจจัดขบวนเสด็จฯ ฝ่าบริเวณชุมนุม และอานนท์กะจำนวนผู้เข้าร่วมประท้วงประมาณ 200,000 คนก่อนเวลาเที่ยงคืน[139]

ตำรวจใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันในวันที่ 16 ตุลาคม

วันที่ 15 ตุลาคม เวลา 04:00 น. นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร มีคำสั่งห้ามชุมนุม และจำกัดการนำเสนอข่าว[140] รวมถึงจัดตั้งกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ขึ้นมาควบคุมสถานการณ์โดยเฉพาะ[141] ทำให้ตำรวจใช้อำนาจนี้เข้าสลายการชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาล โดยมีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 20 คน และผู้ชุมนุมนัดหมายอีกครั้งในเวลา 16:00 น. ที่แยกราชประสงค์ ส่งผลให้แฮชแท็ก #15ตุลาไปราชประสงค์ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 แม้การเชิญชวนไปชุมนุมจะเป็นความผิด[142] วันเดียวกัน นายตำรวจระดับสูงสามนายถูกสั่งย้ายและสอบสวนจากกรณีขบวนเสด็จฯ[143] มีการส่งกำลังทหารมายังทำเนียบรัฐบาลและอาคารรัฐสภา[144] ส.ส. ฝ่ายค้านจึงตั้งข้อสังเกตว่าเป็นบรรยากาศเหมือนช่วงก่อนเกิดรัฐประหารปี 2557[145] พรรคร่วมฝ่ายค้านเรียกร้องให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานคร และเปิดสมัยประชุมวิสามัญ[146] การประท้วงในเวลาเย็นที่แยกราชประสงค์ดำเนินต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 13,500 คน[147] มีผู้ถูกจับกุมเพิ่มอีกอย่างน้อย 20 คน[148] แต่ผู้ประท้วงยืนยันจะประท้วงต่อโดยใช้ยุทธวิธีแฟลชม็อบ[149] มีนักกิจกรรมถูกจับกุม 2 คนฐานประทุษร้ายพระราชินี[150] ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่ามีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 51 คนระหว่างวันที่ 13 ถึง 15 ตุลาคม[28]

วันที่ 16 ตุลาคม ประยุทธ์กล่าวถึงผู้ประท้วงตอนหนึ่งว่า "อย่าประมาทกับชีวิต เพราะคนเราสามารถตายได้ทุกเวลา อย่าไปท้าทายกับพญามัจจุราช"[151] โดยเป็นการยกคำสอนตอนหนึ่งของพระพุทธเจ้า แต่ถูกมองว่าเป็นการขู่ฆ่าอย่างทรราช[152] ในเวลาเย็น ผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธประมาณ 2,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น จัดแฟลชม็อบที่แยกปทุมวัน โดยเปลี่ยนจากแยกราชประสงค์ที่มีตำรวจประจำอยู่หนาแน่น แต่ไม่ถึงสองชั่วโมงถัดมาก็ถูกตำรวจสลายการชุมนุม มีรายงานใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง น้ำผสมสารเคมี[147] และแก๊สน้ำตา[153] ด้านหัวหน้าพรรคก้าวไกลพยายามเจรจากับตำรวจขอให้เคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บออกจากที่ชุมนุม แต่ไร้ผล ด้านผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกล่าวว่ามีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 100 คน[29] หลังมีการสลายการชุมนุม นักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยจัดแฟลชม็อบเพื่อประณามการกระทำดังกล่าว[154][155][156] ขณะที่วรงค์ เดชกิจวิกรมและอัษฎางค์ ยมนาคหยิบยกคลิปโดยสำนักข่าวเอเอฟพีที่มีผู้ประท้วงใช้คีมตัดเหล็กฟาดใส่ตำรวจในชุดเกราะมาตั้งคำถามว่าผู้ชุมนุมมือเปล่าจริงหรือไม่[157][158] สีของน้ำนั้นคาดการณ์ว่าเป็นเมทิลลีนบลู, แอเซอร์เอ, หรือไทโอนีน และใช้ติดตามตัวบุคคลเป็นเวลาหลายวัน[159] ด้านตำรวจไม่สามารถยืนยันประเภทของสารเคมีได้แน่ชัด ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าดูไม่ได้ศึกษาสารเคมีที่จัดซื้อมา[160]

วันที่ 17 ตุลาคม ผู้ชุมนุมในนาม "กลุ่มราษฎร" ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากคณะราษฎร และตำรวจประเมินว่ามีจำนวนประมาณ 23,000 คน จัดการชุมนุมในรูปแบบไร้แกนนำในหลายจุดในกรุงเทพมหานคร ทำให้รัฐบาลสั่งปิดระบบขนส่งมวลชน และมีผลกระทบต่อผู้โดยสารหลายแสนคน[161] การชุมนุมในวันที่ 18 ตุลาคม จัดที่แยกอโศกมนตรี แยกบางนา และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นหลัก เป็นการชุมนุมโดยสงบและไม่ยืดเยื้อ พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้อำนวยการ กอร.ฉ. ใช้อำนาจสั่งปิดสถานีรถไฟฟ้าและสกายวอล์คในบริเวณดังกล่าว[162] ตำรวจระบุว่ามีผู้ชุมนุมประมาณ 6,000 คน ตามแยกต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งยังไม่รวมการประท้วงในอีกหลายจังหวัด[163] วันที่ 21 ตุลาคม กลุ่มคณะราษฎรเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่ง แต่ถูกตั้งเครื่องกีดขวางอย่างแน่นหนาและมีฝ่ายตรงข้ามพยายามขวาง[164] เกิดเหตุการณ์กลุ่มชายชุดเหลืองที่ประกาศตนว่าสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ก่อเหตุฝ่าแนวกั้นตำรวจเข้าทำร้ายกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำให้นักศึกษาต้องย้ายสถานที่ชุมนุม ซึ่งกลุ่มชายชุดเหลืองประกาศว่าเป็นชัยชนะ[165][166][167] มีนักศึกษาได้รับบาดเจ็บ 1 คนและเข้าแจ้งความดำเนินคดี[15] วันเดียวกัน ประยุทธ์ออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ขอให้ทั้งสองฝ่ายลดความรุนแรงและแก้ไขสถานการณ์ผ่านกระบวนการรัฐสภา ขอให้ผู้ประท้วงลดคำพูดที่ "ก่อให้เกิดความแตกแยก"[168][169] วันที่ 22 ตุลาคม ประยุทธ์ออกประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานคร[170][171]

ประยุทธ์จัดสมัยประชุมวิสามัญของรัฐสภาไทย 26–27 ตุลาคม 2563[172] แต่ผู้ประท้วงต้องการให้นายกรัฐมนตรีลาออกก่อนเพื่อเป็นการแสดงความสุจริตใจก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ[173] ในสมัยประชุมนั้นไม่มีประเด็นใดตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง[174][175] หลังการประชุม ประยุทธ์กล่าวว่ารัฐบาลจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และตั้งคณะกรรมการหาทางออก แต่ตนจะไม่ลาออก[176]

การประท้วงที่พุ่งเป้าไปยังพระมหากษัตริย์ และม็อบชนม็อบ

ภาพวาดการ์ตูนที่จัดแสดงในการชุมนุมประท้วงในวันที่ 29 ตุลาคม ที่ถนนสีลม แสดงภาพนักกิจกรรมคนสำคัญ, หมุดคณะราษฎรหมุดที่ 2, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

วันที่ 24 ตุลาคม กลุ่มราษฎรพบว่าประยุทธ์ไม่ลาออกจากตำแหน่งตามกำหนด จึงประกาศยกระดับการชุมนุมอีกครั้ง โดยไผ่ ดาวดิน ได้จัดการชุมนุมในวันที่ 25 ตุลาคม ที่แยกราชประสงค์ นับเป็นการชุมนุมใหญ่ที่แยกราชประสงค์ของกลุ่มราษฎรเป็นครั้งที่ 2[177] และในวันถัดมาคือวันที่ 26 ตุลาคม ได้เดินขบวนจากแยกสามย่านไปยังสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี เพื่อยื่นหนังสือสอบถามเกี่ยวกับการใช้พระราชอำนาจในประเทศเยอรมนีของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฮโค มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี ได้ระบุว่า ได้ติดตามสิ่งที่พระองค์ทำระหว่างประทับอยู่ในเยอรมนีมานานพอสมควรแล้ว และยังคงตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง หากพบว่ามีการทำผิดกฎหมายจะดำเนินการทันที[178] จากนั้นในวันที่ 29 ตุลาคม มีการชุมนุมหน้าวัดพระศรีมหาอุมาเทวี เพื่อประท้วงเสื้อผ้าของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยมีรายงานว่าได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน 13 ล้านบาท[179][180][181] วันที่ 30 ตุลาคม เกิดการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น หลังพริษฐ์ ชิวารักษ์ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และภาณุพงศ์ จาดนอก ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ แต่ตำรวจอายัดตัวต่อ[182] ซึ่งพบร่องรอยการบาดเจ็บ การถูกทำร้าย ขาดน้ำและอดนอน[16]

วันที่ 3 พฤศจิกายน มีการประท้วงหน้าศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นที่ตั้งของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประท้วงการสั่งปิดเว็บไซต์สื่อลามก พอร์นฮับ ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่าพยายามปกปิดภาพของพระมหากษัตริย์ที่ละเอียดอ่อน[183]

วันที่ 8 พฤศจิกายน กลุ่มราษฎรจัดกิจกรรมส่งราษฎรสาส์นถึงพระมหากษัตริย์ที่สำนักพระราชวัง แต่ถูกตำรวจฉีดน้ำสกัดก่อนถึงที่หมายโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าและยังไม่ทันเจรจา[184] จนสุดท้ายได้หย่อนจดหมายที่ตู้ไปรษณีย์จำลองโดยไปไม่ถึงสำนักพระราชวัง กลุ่มผู้ชุมนุมยังมีแถลงการณ์ระบุว่า "กษัตริย์มิอาจเลือกที่รักมักที่ชัง"[184] มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 คน เป็นเจ้าหน้าที่ 1 คน[17] ด้านตำรวจออกมาขอโทษผู้ชุมนุมโดยอ้างว่าเป็นความผิดพลาด "มือลั่น"[185] แต่ต่อมาอ้างว่าเป็นการฉีดน้ำหลังจากพยายามเจรจาแล้วไม่เป็นผล[184] ทางการและหน่วยสารสนเทศของรัฐบาลส่งต่อภาพที่ปรากฏว่ามีผู้ชุมนุมขว้างวัตถุที่เหมือนติดไฟใส่ตำรวจและพยายามสร้างภาพว่าผู้ประท้วงใช้ความรุนแรง แต่ผู้ชุมนุมระบุว่าเป็นเพียงระเบิดควันเท่านั้น ซึ่งปาไปเพราะต้องการบดบังทัศนวิสัยหลังฉีดน้ำรอบแรก[186]

วันที่ 10 พฤศจิกายน เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติประเมินว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีผู้เข้าร่วมลดลงทั่วประเทศ โดยประเมินว่ามีจำนวนไม่เกิน 15,000 คนในกรุงเทพมหานคร และไม่เกิน 20,000 คนทั่วประเทศ พร้อมขู่ว่าเมื่อกระแสอ่อนแรงเมื่อไรจะดำเนินคดีตามกฎหมาย[187]

วันที่ 14 พฤศจิกายน กลุ่มประท้วงประมาณ 20 กลุ่ม ซึ่งมีตั้งแต่นักเรียนมัธยมปลาย นักกิจกรรมสิทธิสตรีและ LGBTQ ร่วมจัดการประท้วงในงาน "ม็อบเฟสต์" กลุ่มนักเรียนมีการใช้ผ้าคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเกิดการปะทะกับตำรวจเล็กน้อย ซึ่งสื่อรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บที่ขา 1 นาย[19]

วันที่ 17 พฤศจิกายน รัฐสภาเริ่มต้นการประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ การประท้วงนอกอาคารรัฐสภาในวันนั้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 55 คน หลังผู้ประท้วงพยายามเข้าใกล้อาคารและถูกตำรวจสกัดด้วยปืนใหญ่ฉีดน้ำและแก๊สน้ำตาสีม่วง ต่อมาในช่วงค่ำ เกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับผู้ประท้วงนิยมเจ้าสวมเสื้อเหลือง ซึ่งมีผู้ถูกปืนยิง 6 คน[18][188] มีคนสวมเสื้อเหลืองคนหนึ่งถูกจับกุมในบริเวณนั้นฐานครอบครองปืนสั้นและเครื่องกระสุน แต่เขาอ้างว่าพกมาเพื่อป้องกันตัวเท่านั้น[189] สำหรับสารที่ตำรวจใช้นั้น อาจารย์วิชาเคมีคนหนึ่งเปิดเผยว่ามีสารเคมีหลายชนิดในกลุ่มแก๊สน้ำตา แต่มีการผสมให้เข้มข้นมาก และทำให้ผู้ถูกสารมีตุ่มน้ำพุพอง[190]

วันที่ 18 พฤศจิกายน รัฐสภาลงมติรับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ซึ่งให้มีวุฒิสภาต่อไป และห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 แต่ปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ไอลอว์ยกร่าง[191] ผู้ชุมนุมที่รู้สึกโกรธเพราะถูกปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ไอลอว์ยกร่างและการใช้กำลังของตำรวจเมื่อวันก่อนจึงยกระดับการชุมนุมและไปชุมนุมกันที่แยกราชประสงค์อีกครั้ง นับเป็นการชุมนุมใหญ่ที่แยกราชประสงค์ของกลุ่มราษฎรเป็นครั้งที่ 3 โดยครั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนชื่อแยกเป็น "ราษฎรประสงค์" และเดินขบวนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสาดสีและเติมรอยขูดขีดเขียนในบริเวณนั้น ก่อนจะนัดชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 25 พฤศจิกายน เวลา 15:00 น. ที่หน้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บริเวณวังแดง เพื่อทวงคืนทรัพย์สินที่ควรเป็นของราษฎร วันต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลรีบทำความสะอาดป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บ้างใช้สีขาวหรือสีดำทาทับพื้นถนน และประยุทธ์ขอบใจการกระทำนี้[192]

วันที่ 21 พฤศจิกายน กลุ่มนักเรียนเลวจัดกิจกรรม "บ๊ายบายไดโนเสาร์" ซึ่งหมายถึงสมาชิกรัฐสภาที่มีความคิดล้าสมัย ในกิจกรรมมีหญิงในชุดนักเรียนถือกระดาษมีข้อความว่า "หนูถูกครูทำอนาจาร รร.ไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย"[193] ทำให้มีสมาชิกวุฒิสภาฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลออกมากล่าวหาในเรื่องความจริงใจและเจตนาของเธอ[194][195]

วันที่ 23 พฤศจิกายน ตำรวจล้อมรั้วลวดหนามและตู้คอนเทนเนอร์รอบสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งติดตั้งป้าย "เขตพระราชฐาน" ในยามวิกาล[196] วันที่ 24 พฤศจิกายน ตำรวจออกหมายเรียกแกนนำผู้ชุมนุมจำนวน 12 คน ให้เข้าไปรับทราบข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งในครั้งแรกตำรวจขอหมายจับ แต่ศาลไม่อนุมัติ[197] ตอนดึก ผู้ชุมนุมประกาศย้ายสถานที่จัดการชุมนุม โดยย้ายไปชุมนุมที่หน้าเอสซีบีพาร์กพลาซา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ บนถนนรัชดาภิเษกแทน โดยระบุว่าเพื่อลดโอกาสในการปะทะกับกลุ่มคนเสื้อเหลือง[198]

วิดีโอจากแหล่งข้อมูลภายนอก
คลิปบุคคลปาวัตถุระเบิด ณ ที่ชุมนุม 25 พฤศจิกายน 2563, วิดีโอทวิตเตอร์

วันที่ 25 พฤศจิกายน เวลา 15:00 น. กลุ่มราษฎรได้จัดชุมนุมที่หน้าเอสซีบีพาร์กพลาซาตามกำหนด[199]พริษฐ์ ชิวารักษ์ ปราศรัยว่า การเข้ามาทำธุรกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นไม่สง่างาม และต้องทวงคืนกลับมาเป็นสมบัติของชาติ และมีการเสนอเพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อยกเลิก พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และให้แยกทรัพย์สินส่วนพระองค์กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์[200] จากนั้นสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้ขึ้นปราศรัยต่อว่า การที่รัฐบาลกลับมาใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถือเป็นการขัดพระบรมราชโองการ และจากสาเหตุนี้ประยุทธ์ควรลาออก[201] ทั้งนี้ผู้ชุมนุมได้ประกาศจัดการชุมนุมต่อเนื่องยาว 5 วัน[202] ก่อนหน้านี้ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่าไม่มีความคิดที่จะใช้กฎอัยการศึก[203] จากนั้นในช่วงดึกเกิดเสียงระเบิดและเสียงปืนดังขึ้นในบริเวณที่ชุมนุม มีการ์ดผู้ชุมนุมถูกยิงได้รับบาดเจ็บและนำตัวส่งโรงพยาบาล 2 คน[20][204] ด้านผู้ชุมนุมจับตัวผู้ต้องสงสัยไว้ได้[205] ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าตำรวจเข้าระงับเหตุล่าช้า[206] วันรุ่งขึ้น ตำรวจแถลงว่า เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นเหตุวิวาท โดยอ้างคลิปวิดีโอที่เข้าใจว่าเป็นการ์ดผู้ชุมนุมสนทนากัน และยังไม่มีการควบคุมตัวผู้ใด ส่วนประยุทธ์รีบออกแถลงการณ์ว่ารัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง[206] นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลอ้างว่าเป็นการยิงกันเองเพื่อสร้างสถานการณ์[207]

วันที่ 27 พฤศจิกายน กลุ่มราษฎรจัดกิจกรรม "ซ้อมต้านรัฐประหาร" ที่ห้าแยกลาดพร้าว โดย ภาณุพงศ์ จาดนอก ได้ขึ้นเวทีเพื่อปราศรัยวิธีการต่อต้านรัฐประหาร โดยนำรถยนต์ไปจอดทิ้งไว้บนถนนสายต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อขัดขวางการเคลื่อนย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์ของทหาร รวมทั้งรวมตัวกันขัดขืนคำสั่งของคณะรัฐประหาร[208]

วันที่ 29 พฤศจิกายน กลุ่มราษฎรจัดชุมนุมเดินขบวนจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท ไปยังกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ทั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแผนจากเดิมที่จะจัดชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งตำรวจได้ล้อมรั้วลวดหนามและตู้คอนเทนเนอร์ไว้โดยรอบ และเมื่อถึงกรมทหารราบที่ 11 แกนนำได้อ่านแถลงการณ์เกี่ยวกับการถ่ายโอนอำนาจของกองกำลังทหารให้คืนสู่ต้นสังกัดเดิม[209]

วันที่ 1 ธันวาคม กลุ่มนักเรียนเลว จัดกิจกรรมนัดแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียนในวันเปิดภาคเรียน เพื่อต่อต้านกฎระเบียบเกี่ยวกับชุดนักเรียน ที่กลุ่มนักเรียนเลวระบุว่า "ล้าหลัง" ขณะเดียวกัน ภาคีนักเรียนขอนแก่น (ภาคีนักเรียน KKC) ก็ได้จัดกิจกรรมนัดแต่งไปรเวทด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นการตั้งคำถามต่อการบังคับให้นักเรียนต้องแต่งชุดนักเรียน ว่าท้ายที่สุดแล้วการสวมชุดนักเรียนมีประโยชน์อย่างไร และผลการเรียนขึ้นอยู่กับการแต่งชุดนักเรียนหรือไม่ ซึ่งจากกิจกรรมนี้ทำให้ บางโรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนที่แต่งชุดไปรเวทสามารถเข้าเรียนได้ แต่บางโรงเรียนต้องประกาศให้แต่งชุดนักเรียนในวันเปิดเทอม หากแต่งชุดไปรเวทจะไม่อนุญาตให้เข้าเรียน บ้างก็ให้ไปคุยกับผู้บริหารในห้องปกครองนานหลายชั่วโมง[210]

วันที่ 2 ธันวาคม หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประยุทธ์ไม่ได้กระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเข้าพักอาศัยในบ้านพักราชการทหาร กลุ่มราษฎรจึงประกาศยกระดับการชุมนุมอีกครั้งที่ห้าแยกลาดพร้าว โดยได้ปิดการจราจรบนถนนพหลโยธินตั้งแต่บริเวณห้าแยกลาดพร้าวจนถึงแยกรัชโยธิน[211] จากนั้นครูใหญ่ อรรถพล​ ได้ขึ้นเวทีวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ และมีการทุบศาลพระภูมิเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์[212] หลังจากนั้นการประท้วงได้หยุดลงชั่วคราวอีกครั้งเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ในระลอกใหม่

วันที่ 31 ธันวาคม กลุ่ม We volunteer หรือ วีโว่ จัดกิจกรรมจำหน่ายกุ้งสด บริเวณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา โดยมีนายแพทย์ ทศพร เสรีรักษ์ เข้าร่วม ต่อมาตำรวจได้จับกุมปิยรัฐ จงเทพ แกนนำการชุมนุม โดยมีการปะทะมีผู้บาดเจ็บหนึ่งราย จากการทำร้ายร่างกายบริเวณใบหน้า[213] ต่อมาเวลา 23.35 น. มีเหตุคนร้ายวางระเบิดเกิดขึ้น มีผู้บาดเจ็บ 4 ราย ตลอดทั้งวันรวม 5 ราย

หลังการระบาดของโควิด-19 รอบสอง

ในระหว่างช่วงที่หยุดพักการชุมนุมบนท้องถนน การประท้วงยังคงดำเนินต่อไปบนโลกออนไลน์ ขณะที่ผู้ชุมนุมที่มีชื่อเสียงยังต้องต่อสู้คดีความ ระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดี 38 คน[30] วันที่ 14 มกราคม 2564 มีนักศึกษาคนหนึ่งถูกจับกุมที่หอพักในเวลาดึก ทำให้มีการจัดการประท้วงแฟลชม็อบที่สถานีตำรวจในเวลาไล่เลี่ยกัน[214] วันที่ 16 มกราคม นักกิจกรรม 5 คนถูกจับกุมหลังกลับมามีการชุมนุมบนถนนอีก เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ เกิดเหตุระเบิดซึ่งคาดว่าเป็นระเบิดปิงปองโดยดูเหมือนว่าปาใส่ตำรวจปราบจลาจล ทำให้เกิดความกังวลเรื่องความรุนแรง[215] วันเดียวกัน การ์ดราษฎรคนหนึ่งถูกลักพาตัว จนมาพบตัวอีกครั้งในวันที่ 17 มกราคม โดยคาดว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ความมั่นคง[216]

การประท้วงระยะที่สาม

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ อัยการสั่งฟ้องแกนนำกลุ่มราษฎร 4 คนในหลายข้อหา รวมทั้งความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์[217] และคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว[218] ทำให้ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ กลุ่มราษฎรกลับมาจัดการชุมนุมบนท้องถนนอีกครั้งในรอบ 3 เดือน โดยจัดกิจกรรม "รวมพลคนไม่มีจะกิน ตีหม้อไล่เผด็จการ" บนสกายวอล์กวันสยาม แยกปทุมวัน โดยผู้ชุมนุมได้นำหม้อ จาน ชาม มาตีและเคาะ[219] ซึ่งเป็นการเลียนแบบจากการที่ผู้ชุมนุมในประเทศพม่าตีหม้อ จาน ชาม เพื่อต่อต้านการรัฐประหารในประเทศพม่า[220] ส่วนเนื้อหาในการชุมนุมมีทั้งมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ที่ทำให้ประชาชนตกงาน, การบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลวของรัฐบาล และการจัดหาวัคซีนที่ล่าช้า[221] จากนั้นปนัสยาประกาศว่ามีผู้ชุมนุมจำนวน 10 คน ถูกควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ผู้ชุมนุมจึงได้เคลื่อนขบวนลงจากสกายวอล์กวันสยามไปยังสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน[222] เมื่อถึงสถานีตำรวจ ภาณุพงศ์ได้เข้าเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ปล่อยตัว และประกาศว่าหากเจ้าหน้าที่ไม่ยอมปล่อยตัวผู้ชุมนุมภายในเวลา 20:30 น. ผู้ชุมนุมจะบุกเข้าไปในโรงพัก[223] จากนั้นเกิดเสียงดังคล้ายระเบิดต่อเนื่องประมาณ 3-4 ลูกบริเวณแนวกั้น[224] จากนั้น ปนัสยาจึงได้กล่าวปราศรัยว่า ที่ผ่านมาพวกเขาต่อสู้แบบประนีประนอม ไม่ใช้ความรุนแรง และได้เชิญชวนให้ประชาชนออกมาชุมนุมบนถนนกันให้มากขึ้น รวมถึงจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาควบคู่ไปกับการอภิปรายในสภาด้วย ก่อนจะยุติการชุมนุม[225] ตำรวจวางกำลังประมาณ 100 นาย เผชิญหน้ากับผู้ประท้วงกว่า 1,000 คน มีการใช้แก๊สน้ำตา แต่ตำรวจรีบออกมาบอกว่าเป็นแก๊สน้ำตาที่ถูกขโมยไปจากการชุมนุมก่อนหน้านี้ ทั้งที่ยังไม่ได้มีการสอบสวน[226] มีนักกิจกรรมถูกจับกุมราว 10 คน[227]

วิดีโอจากแหล่งข้อมูลภายนอก
ตำรวจกระทืบผู้แต่งเครื่องแบบแพทย์สนาม, คลิปทวิตเตอร์

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ผู้ประท้วงจัดการประท้วงอย่างสันติอีกครั้ง โดยจัดกิจกรรมปราศรัยและห่ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วยผ้าแดง ก่อนเคลื่อนไปยังศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร[228] แต่ในเวลาหัวค่ำหลังผู้ประท้วงส่วนใหญ่แยกย้ายตามประกาศแกนนำแล้ว เกิดการปะทะระหว่างผู้ประท้วงที่เหลือกับตำรวจ เกิดเสียงระเบิดดังหลายครั้ง และตำรวจอ้างว่ามีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 20 คน[228] และมีผู้ประท้วงถูกจับกุม 11 คน[229] นอกจากนี้ยังมีการ์ดอาชีวะคนหนึ่งถูกยิงที่ขาด้วยปืนที่คาดว่าเป็นลูกซองสั้น ผู้ประท้วงเข้าปิดล้อมร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่ผู้ลงมือหลบหนีเข้าไปจนตำรวจตามมาจับกุมในภายหลัง[230] มีคลิปวิดีโอออกมาว่า ผู้สวมชุดแพทย์อาสาถูกตำรวจรุมทำร้าย[228] จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้แฮชแท็ก #ตำรวจกระทืบหมอ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์[231]